ประเทศไทยกับสหภาพยุโรป

ความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทย

ความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยมีสองรูปแบบ คือ ความร่วมมือในโครงการที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากจากงบประมาณของสหภาพยุโรป โดยมีฝ่ายบริหารหรือคณะกรรมาธิการยุโรปเป็นผู้ดำเนินการ และความร่วมมือผ่านโครงการในระดับทวิภาคีระหว่างประเทศไทยกับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปโดยตรง

ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา

ความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรปและประเทศไทยเริ่มขึ้นในทศวรรษที่ 70 โดยระยะแรกเน้นไปที่การช่วยเหลือรัฐบาลไทยเพื่อสนับสนุนการปลูกพืชแบบผสมผสานและการเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร อย่างไรก็ดี ความร่วมมือในภายหลังได้เน้นไปที่ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ เพื่อให้สอดคล้องกับการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วของประเทศไทย

ปัจจุบันคณะกรรมาธิการยุโรปมีหน้าที่ดูแลภาพรวมโครงการความร่วมมือในประเทศไทยทั้งหมด ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สุขอนามัย พลังงาน การศึกษา และเทคโนโลยี โดยทั้งหมดมีวัตถุประสงค์หลักคือการสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมในประเทศไทยอย่างยั่งยืน

ยุทธศาสตร์ใหม่สำหรับประเทศไทย

เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2002 คณะกรรมาธิการยุโรปได้ลงมติรับรองรายงานยุทธศาสตร์สำหรับประเทศไทย ช่วงปี 2002-2006 รายงานนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาความต่อเนื่องในนโยบายของสหภาพยุโรปต่อประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เพื่อให้โครงการความช่วยเหลือสอดคล้องกับความเร่งด่วนทางด้านการเมืองที่สหภาพยุโรปเห็นว่าควรดำเนินการ การจัดทำรายงานนี้ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลของแต่ละประเทศ ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปผู้ให้ความช่วยเหลืออื่นๆ และผู้แทนจากกลุ่มองค์กรในสังคม

ในรายงานยุทธศาสตร์สำหรับประเทศไทยในช่วงปีดังกล่าว คณะกรรมาธิการยุโรปจะเน้นไปที่ความร่วมมือทางด้านการค้าและการลงทุน และการปฏิรูประบบสาธารณสุขเป็นสำคัญ

คณะกรรมาธิการยุโรปจะให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศไทยในการปฏิบัติตามพันธะสัญญาขององค์การการค้าโลก (WTO) โดยช่วยให้ทั้งรัฐบาลและบริษัทเอกชนไทยดำเนินงานให้สอดคล้องกับข้อกฎหมายของสหภาพยุโรปที่พัฒนาไป และส่งเสริมให้สหภาพยุโรปเข้ามาลงทุนและเข้าถึงตลาดของไทย

นอกจากนี้ ความร่วมมือของคณะกรรมาธิการยุโรปยังมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนโดยรวมเข้าถึงระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ มีคุณภาพ และที่น่าเชื่อถืออย่างเท่าเทียมกัน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจและการพัฒนาที่ยั่งยืน

ความร่วมมือด้านอื่นๆ ที่ระบุในไว้รายงานนี้ ได้แก่ ความร่วมมือทางด้านสิ่งแวดล้อม พลังงาน การดูแลและให้ความช่วยเหลือแก่ผู้อพยพและผู้ลี้ภัย เรื่องที่เกี่ยวข้องกับนโยบายทางสังคม เช่น ธรรมาภิบาล การต่อต้านการผลิตและค้ายาเสพติด วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการศึกษา รวมทั้งการส่งเสริมให้วัฒนธรรมเป็นสื่อกลางในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสหภาพยุโรปในประเทศไทย

 

การทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน

องค์กรพัฒนาเอกชน (NGO) ที่ทำงานในระดับรากหญ้ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในประเทศไทย และเป็นพันธมิตรที่สำคัญของคณะกรรมาธิการยุโรปที่ช่วยให้ความช่วยเหลือถึงมือผู้ที่ต้องการอย่างแท้จริง คณะกรรมาธิการยุโรปได้ให้เงินช่วยเหลือทั้งแบบบางส่วนและทั้งหมดแก่โครงการต่างๆ ขององค์กรพัฒนาเอกชน อาทิเช่น การพัฒนาองค์กรในสังคม ป่าไม้ สิ่งแวดล้อม ยาเสพติด และสิทธิมนุษยชน

นอกจากนี้ สำนักงานด้านมนุษยธรรมของสหภาพยุโรป (ECHO) ยังให้เงินช่วยเหลือจำนวนมากแก่องค์กรพัฒนาเอกชนเพื่อช่วยเหลือผู้ลี้ภัยตามค่ายอพยพและหมู่บ้านรอบๆ บริเวณชายแดนไทย-พม่า โดยนำไปใช้จ่ายเพื่อดูแลด้านสุขอนามัย อาหาร เชื้อเพลิงในการประกอบอาหาร และให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ลี้ภัยกว่า 100,000 คน

การช่วยเหลือในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจ

หลังจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 1997/98 คณะกรรมาธิการยุโรปได้มุ่งให้ความช่วยเหลือรัฐบาลไทยเพื่อแก้ไขปัญหาเร่งด่วนที่เกิดขึ้นทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งรวมถึงการสร้างงาน การบรรเทาผลกระทบทางสังคมหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ มาตรการเพื่อความมั่นคงในชุมชนชนบท และความช่วยเหลือทางวิชาการเพื่อปฏิรูปภาคการเงิน

นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้รับความช่วยเหลือจาก ASEM Trust Fund ซึ่งสหภาพยุโรปและประเทศสมาชิกเป็นผู้ให้เงินรวมทุนเกือบทั้งหมด เพื่อใช้ในการปฏิรูปภาคการเงินและบริษัทเอกชน ตลอดจนเข้าแทรกแซงเพื่อลดผลกระทบทางสังคมอันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ

ความร่วมมือระดับภูมิภาค

นอกจากจะได้รับเงินช่วยเหลือจากคณะกรรมาธิการยุโรปในโครงการระดับทวิภาคีแล้ว ประเทศไทยยังได้รับประโยชน์จากโครงการในระดับภูมิภาคภายใต้กรอบความร่วมมืออาเซียน (ASEAN) อาเซม (ASEM) และกรอบการทำงานต่างๆ ทั่วเอเชีย กิจกรรมซึ่งเน้นในภาคปฏิบัติเหล่านี้ก่อให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมต่ออุตสาหกรรม สถาบัน บริษัท และประชาชนที่เข้าร่วม ทั้งยังมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนทั้งภายในทวีปเอเชีย และระหว่างเอเชียและยุโรป

การปรึกษาหารือระดับทวิภาคี

กรอบการทำงานเพื่อความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรปกับประเทศไทยอยู่ภายใต้ความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรปและอาเซียนปี 1980 ส่วนในระดับทวิภาคีนั้น การหารือจะอยู่ภายใต้กรอบการทำงานของการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรปและประเทศไทย (Senior Officials’ Meeting - SOM) ซึ่งจัดขึ้นเป็นประจำ